วิธีคำนวณผ้าม่านจีบ

หน้าแรก ผ้าม่าน วอลเปเปอร์ วิธีคำนวณผ้าม่านจีบ

การคำนวณหาจำนวนผ้าม่านที่จะต้องใช้ ในการทำผ้าม่านจีบทั่วไป เราต้องทำความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้ก่อนนะครับ


1. หน่วยที่ใช้ในการวัด
การวัดผ้าม่านเท่าที่ทราบมา ว่าท่านเจ้าของบ้านส่วนใหญ่มักวัดมาโดยใช้หน่วยวัดเป็นนิ้วบ้าง เป็นฟุต หรือ เป็นเมตรบ้าง เรื่องการตกลงว่าจะใช้หน่วยวัดเป็นอะไรดีนั้น ขอแนะนำว่า ให้ใช้หน่วยวัดเป็น เซ็นติเมตรครับ เพราะเวลาคุยกับร้านผ้าม่าน จะเข้าใจกันได้ดีที่สุด เพราะว่าร้านผ้าม่านแทบทุกร้านเค้าใช้หน่วยวัดนี้กันครับ


2. วิธีการวัดขนาด
ขอเน้นตรงนี้เลยนะครับว่าการวัดขนาดผ้าม่าน ไม่ใช่วัดจากขนาดของวงกบแน่นอน เพราะกาัรวัดจากขนาดวงกบ ไม่สามารถบอกตำแหน่งของผ้าม่านได้ 100% เนื่องจากทางร้านไม่ทราบว่าหน้าต่างของคุณอยู่ตำแหน่งไหนของผนังบ้าน ต้องเผื่อเท่าไหร่ เผื่อด้านข้างหรือยัง เผื่อรางม่านหรือยัง เผื่อชายผ้าหรือยัง ติดแอร์หรือยัง ฯลฯ ครับ เจอแน่ ๆ แต่การวัดผ้าม่าน ถ้าคุณต้องการให้ บ้านสวยด้วยตัวคุณเองนั้น มาเริ่มวัดผ้าม่านกันเลย มันมีหลักแค่นิดเดียวเท่านั้น คือ


2.1 การวัดขนาด ความกว้างของผ้าม่าน ถ้าเป็นหน้าต่างทั่วไป ก็ประมาณ 1.50-1.65 เมตร หรือถ้าเป็นประตูทางเข้าออกบ้าน ระเบียง ก็ประมาณ 2-3 เมตร ดังนั้นการวัด และเผื่อด้านข้างจะไม่เหมือนกันครับ เพราะถ้าหน้าต่างไม่กว้างนัก การวัดเผื่อด้านข้างก็จะวัดเผื่อน้อยหน่อย ประมาณสัก 10-15 เซ็นติเมตร ส่วนชุดประตูก็เผื่อมากหน่อย ประมาณสัก 15-25 เซ็นติเมตรครับ เพราะว่าเวลาทำม่านมาติดแล้วเวลารวบเก็บ ม่านจะมีเนื้อที่ในการเก็บพอสมควร เช่นถ้าม่านชุดนึงกว้าง 1.65 เมตร จะใช้ีพื้นที่ในการเก็บข้างละประมาณ 20-25 เซ็นติเมตรครับ ดังนั้นการวัดความกว้างของผ้าม่าน ก็เริ่มจากจุดที่เราเผื่อออกไปเเล้วจากขอบวงกบด้านซ้าย ลากไปหาจุดที่เผื่อเรียบร้อยทางด้านขวาครับ สมมุติ วงกบกว้าง 150 เซ็นติเมตร ก็น่าจะเผื่อด้านข้างออกไปข้างละ 10 เซ็นต์ ดังนั้นความกว้างของม่านชุดนี้จะอยู่ที่ 160 เซ็นติเมตรครับ คราวนี้เราได้ความกว้างแล้วก็ต้องมาหาความสูงต่อไปครับ


2.2 การวัดขนาด ความสูงของผ้าม่าน การวัดขนาดความสูงของหน้าต่างหรือประตูนั้น ก่อนลงมือวัด ให้พิจารณาเป็นข้อ ๆ ดังนี้ครับ

- หน้าต่างที่คุณวัด ในขณะนั้นติดแอร์หรือยัง อนาคตจะติดหรือไม่ ถ้าติดแล้วเหลือพื้นที่ในการติดรางผ้าม่านหรือไม่ตรงบริเวณใต้แอร์ ถ้ามีโอกาสให้แจ้งช่างแอร์นะครับว่าให้ติดตั้งแอร์พยายามดันให้สูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะถ้าเป็นบ้านจัดสรรค์ทั่วไปนั้น เค้าจะมีพื้นที่ระหว่างฝ้าเพดาน กับ ขอบวงกบ น่าจะซักประมาณ 45-60 เซ็นต์ ประมาณนี้ล่ะครับ เฉพาะแอร์ก้อกินพื้นที่ 40 เซ็นต์เข้าไปแล้ว

- บริเวณด้านล่างของหน้าต่าง ในอนาคตจะมีสิ่งเหล่านี้หรือไม่ เช่น โซฟา ตู้โชว์ ชั้นวาง TV ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องคิดเผื่อครับ มันเกี่ยวกับความสูงของผ้าม่านเราด้วย เมื่อได้พิจารณาองค์ประกอบต่าง ๆแล้ว เราก็เริ่มความสูงของผ้าม่านกันเลยนะครับ


ก่อนลงมือวัด ถอยออกมายืนดูก่อนครับ เพื่อพิจารณาตำแหน่งติดรางม่านกันก่อน ว่ารางม่านมันควรจะวางอยู่ในระดับไหนเหนือวงกบมันถึงจะออกมาสวยครับ โดยทั่วไปเค้าเผื่อจากขอบวงกบขึ้นไปประมาณอย่างน้อย 15 เซ็นต์ครับ เพราะถ้าต่ำกว่านั้น รางม่านจะกินพื้นที่ประมาณ 5-7 เซ็นต์บวกกับหัวม่านกินพื้นที่ประมาณ 9-11 เซ็นต์ ตอนติดออกมาแล้วภายในบ้านดูปรกติครับ แต่เดินออกไปดูนอกบ้านครับ โอ้โห เ็ห็นมองเห็นตะขอม่านไม่น่ามองครับ ดังนั้นถ้าเป็นไปได้เผื่อเถอะครับขอร้อง เอาล่ะเมื่อได้ตำแหน่งความสูงของผ้าม่านก็ลากลงมาด้านล่าง ถ้าเป็นชุดหน้าต่างก็ให้เลยวงกบด้านล่างลงมาซัก 15-20 เซ็นต์กำลังสวย ส่วนชุดประตูก็ชนพื้นเลยแล้วหักออก 2 เซ็นต์เผื่อลอยนะครับ สมมุติ เราวัดจากวงกบบนชนวงกบล่าง (สำหรับชุดหน้าต่าง) ได้ 140 เซ็นต์ เผื่อบน 15 เผื่อล่าง 15 ความสูงผ้าม่านของหน้าต่างจะได้ = 170 เซ็นต์ ถ้าเป็นชุดประตูจากวงกบบนชนพื้นอยู่ที่ 200 เซ็นต์ เผื่อบน 15 หักลอย 2 จะได้ความสูงของม่าน = 213 เซ็นต์ เอาล่ะเรียบร้อยเรามาทำความเข้าใจกับองค์ประกอบในการคำนวณอีกสักนิดครับ


3. หน้าผ้า
หน้าผ้าหมายถึง ความกว้างของผ้าที่คุณเลือกมาทำผ้าม่านนั่นล่ะครับ โดยทั่วไปจะแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ 2 กลุ่มครับ คือ ผ้าหน้ากว้าง และ ผ้าหน้าแคบ ผ้าในกลุ่มหน้ากว้าง ได้แก่ 60 นิ้ว 58 นิ้ว และ 54 นิ้ว และ อีกกลุ่มก็คือกลุ่มหน้าแคบ มีด้งนี้ครับ 50 นิ้ว และ 48 นิ้ว สำคัญครับสำหรับหน้ากว้างผ้า คือมันจะเป็นตัวบอกว่า ม่านของคุณจะใช้ผ้าทั้งหมดจำนวนกี่หลา ดังนั้นความกว้างของหน้าผ้า โดยมาก ผ้าหน้ากว้างจะใช้ผ้าน้อยกว่า ผ้าหน้าแคบ แต่ราคาจะสูงกว่าพอสมควร ก็หลักร้อยครับ แต่มันไม่เสมอไปเหมือนกันเพราะผ้าม่านบางขนาด บางทีใช้ผ้าหน้ากว้างและแคบเท่ากันเลยก็มี เดี๋ยวคุณจะรู้เองว่า ขนาดผ้าม่านของเราใช้ผ้าหน้าไหนถึงจะประหยัดตังค์ในกระเป๋า หรือหลีกเลี่ยงการโกงผ้าจากร้านที่ไม่มีจรรยาบรรณ อ้อลืมแจ้งครับ การคำนวณผ้าม่านของผม ต้องใช้หน่วยเป็นเซ็นติเมตรครับ ดังนั้น การทำผ้าหน้ากว้างที่เป็นนิ้ว ให้ เป็นเซ็นติเมตรนั้น ให้เอา จำนวนนิ้ว คูณด้วย 2.5 ก็จะได้ = เซ็นติเมตร ครับ เช่น 60 นิ้ว คูณ 2.5 = 150 เซ็นติเมตรครับ

เราได้องค์ประกอบในการคำนวณ ผ้าม่าน มาครบแล้วทั้ง 3 ส่วน คราวนี้เรามาเข้าสูตรการคำนวณเลยนะครับ สูตรมีอยู่ว่า


1. ความกว้าง x 2.2 หรือ 2.5 /หน้าผ้า = จำนวนชิ้นผ้าที่ใช้

2. ความสูง + 30 x จำนวนชิ้น / 90 = จำนวนหลาที่ใช้ทั้งหมด


เรามาทำความเข้าใจกับสูตรก่อนนะครับ ตามมาเลยคุณใกล้ความจริงเข้าไปทุกทีแล้วครับ


ความกว้าง คือ ข้อ 2.1 ด้านบนนั่นล่ะครับเอามันมากรอกลงไปในเครื่องคิดเลขของคุณได้เลย (หน่วยเป็นเซ็นต์นะครับ) เช่นวัดได้ 1.65 เมตรก็ = 165 ครับ


ตัวคูณ 2.2 หรือ 2.5 เลือกเอาครับ ว่าจะเป็น 2.2 หรือ 2.5 ตัวใดตัวนึง มันมีความหมายว่าถ้าคุณต้องการผ้าม่านที่มีความลึกในแบบธรรมดาึทั่วไป (มารตฐาน) ก็เลือก 2.2 (= ต้องการใช้ผ้าที่เย็บเสร็จแล้วในอัตรา 2.2 เท่าของขนาดผ้าม่าน) แต่ถ้าบ้านคุณมีแต่ผ้าม่านชุดใหญ่ ชุดสูง ก็ให้เลือก 2.5 แทน (= ต้องการใช้ผ้าม่านที่มีความกว้างในอัตรา 2.5 เท่าของขนาดผ้าม่าน) เพราะยิ่งผ้าม่านชุดสูงเวลาทำออกมาเสร็จ ถ้าคุณเลือกตัวคูณเป็น 2.2 ตรงบริเวณชายม่านมันจะมองไม่เห็นจีบม่านเลยล่ะ แบนซะไม่มี


หน้าผ้า คือ ผ้าที่คุณตัดสินใจซื้อ ในนั้นมันจะมี spec บอกว่า หน้ากว้างเท่าไหร่ ถ้าำไม่มีก้อเอาตลับเมตรวัดว่ามันได้เท่าไหร่ หรือถ้าไม่เข้าใจให้กลับไปอ่านที่ข้อ 3 หน้าผ้า นะครับ ถ้าเป็นนิ้วให้ทำให้เป็นเซ็นติเมตรก่อน เช่นผ้าหน้า 60 นิ้ว x 2.5 = 150 cm.หลังจากคุณเข้าสูตรแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้ มันจะเป็นตัวเลข จำนวนเต็ม ตามด้วย จุดทศนิยม เป็นหางว่าวเลย ให้ปัดเศษขึ้นไปเป็นจำนวนเต็มนะครับ เช่น ได้ 3.5689 ให้ปัดเป็น 4 เลย ตัวเลขตัวนี้ลุ่ะครับ มันจะบอกว่า คุณต้องใช้ต้องใช้ผ้า จำนวน 4 ชิ้นในการเย็บต่อกันออกมาให้ได้ความกว้างตามที่เราต้องการ หลังจากได้จำนวนชิ้นที่แน่นอนแล้ว คราวนี้เรามาหาตัวต่อไปเลยนะครับ

ความสูง คือ ตัวเลขที่ได้จากข้อ 2.2 นั่นล่ะครับ นำมันมาใส่ในเครื่องคิดเลขของคุณได้เลย (หน่วยเป็นเซ็นติเมตร) เช่น วัดความสูงได้ 2.10 เมตร = 210 cm.

+ 30 คือ ขนาดที่ทางช่างเผื่อเพิ่มเข้าไป เพื่อสำหรับเย็บ หัว และ ชายม่าน นั่นเองครับ + ไปเถอะครับมันจำเป็นจริง ๆ หลังจากนำความสูงของผ้าม่านมา บวก เข้าไปแล้ว ตัวเลขที่ได้นี่ล่ะครับ คือ ตัวเลขที่ ต้องตัดผ้าแต่ละชิ้นออกมา ตามจำนวนชิ้น ที่กล่าวข้างต้นครับจำนวนชิ้น คือ จำนวนตัวเลขที่ได้มาจาก การคำนวณหาจำนวนชิ้นใน ข้อ.หน้าผ้า นั่นเองล่ะครับ นำมันมาคูณเข้าไปเสร็จแล้ว ก็จะได้ตัวเลขออกมาเป็นจำนวนผ้าที่จะใช้ หลังจากได้ตัวเลขนี้ขึ้นมาแล้ว คราวนี้ เราก็มาหาว่า ต้องการคำตอบเป็น จำนวนหลา หรือ จำนวนเมตรโดยการที่ ถ้าต้องการเป็นจำนวนหลาก็ หาร ด้วย 90 และต้องการเป็นจำนวน เมตร ก็หารด้วย 100 คราวนี้ก็เป็นอันเสร็จสรรพเรียบร้อยครับสำหรับ การคำนวณหาผ้าม่านจีบ ตามที่ต้องการ เห็นมั้ยครับมันไม่ใช่เรื่องที่ยากเลยครับ

ตัวอย่างการคำนวณ ผ้าม่านกว้าง 150 cm. สูง 165 cm. ผ้าที่ใช้หน้ากว้าง 60 นิ้ว (150 cm.) ต้องใช้ผ้าทั้งหมดกี่หลา

ตอบ ตามสูตร กว้าง = 150 x 2.2 /หน้าผ้า = 150 = 2.2 ปัดขึ้นเป็น 3


ตามสูตร สูง = 165 + 30 x จำนวนชิ้น = 3 / 90 = 6.5 หลา


สรุป จากการคำนวณตามสูตรแล้ว สรุปได้ว่า ผ้าม่านชุดนี้ใช้ผ้า จำนวนทั้งสิ้น = 6.5 หลา แน่นอนไม่ขาดไม่เกินครับ


หมายเหตุ ถ้าต้องการให้คำนวณ จำนวนผ้าให้ ยินดีให้บริการฟรีครับ ส่งเมล์มาได้เลย สิ่งที่ต้องเตรียมมีดังนี้ครับ

1. ขนาดผ้า่ม่าน

2. หน้ากว้างผ้า

3. แบบม่าน เช่น ม่านจีบ ม่านพับ ม่านตาไก่ ฯลฯ

หรือต้องการหา ช่างรับเย็บ มีแนะนำได้ครับ แต่ช่างติดตั้งหาเองนะครับ


ขอขอบคุณ: